วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ชี้เด็กไทยเสพติดสังคมเครือข่ายงอมแงม

ปัจจุบันนี้มองไปทางใด ก็มักจะพบว่า มีเด็กและเยาวชนของชาติ รวมถึงผู้ใหญ่บางรายเดินด้วยสองเท้า ทว่าสายตากลับพุ่งไปที่อุปกรณ์ไฮเทค สองมือก็ขะมักเขม้นกดปุ่มพิมพ์ข้อความโต้ตอบอย่างรวดเร็ว โลกของเทคโนโลยีที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสของ Social Network กำลังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว แต่จะเป็นในทางดีหรือร้าย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) มีมุมมองดี ๆ มาแลกเปลี่ยนค่ะ
      
       โดย ดร.จิตรา ดุษฏีธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า เด็กไทยยุคสมัยนี้มีไอคิวและความรู้มากขึ้นกว่าเด็กสมัยก่อน มีความรู้ในการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยนี้ก็ส่งเสริม และเชื่อว่าความรู้ในการส่งเสริมให้เด็กๆ มีความรู้และทันสมัยโดยเฉพาะการเข้าสู่ Social network เพราะมีความเชื่อว่า Social network หรือสังคมเครือข่ายนั้นเป็นโลกแห่งความรู้ และเข้าถึงเด็ก ๆ และเยาวชนได้ หากเด็กคนไหนที่ไม่มีความรู้ด้านนี้ก็จะเป็นคนไม่ทันสมัย ไม่เก่ง สู้คนอื่นไม่ได้
      
       "ยิ่งพ่อแม่สนับสนุนเด็กๆ เข้าสู่ Social network มากแค่ไหน เด็กๆ ก็จะเริ่มไม่สนใจบุคคลใกล้ตัว ทั้งยังส่งผลถึงบุคลิกภาพที่ไม่เคารพไม่ใส่ใจคนรอบข้าง ทำให้เด็กดูเหมือนเป็นคนก้าวร้าว และขาดวินัย"
      
       "อีกทั้งถ้าเด็กมีอุปกรณ์ที่ตัวเองเป็นเจ้าของส่วนตัว อย่างเช่น โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบเอื้อต่อการเข้าไปสู่ Social network จะยิ่งทำให้เด็กขาดวินัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วันทั้งวันเขาจะสนใจแต่อุปกรณ์ที่อยู่ตรงหน้า ทุกคนจะกด และสนใจแต่เครื่องมือสื่อสารของตัวเอง จนลืมนึกถึงคนที่อยู่ใกล้เราไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือถ้าต้องนั่งรถสาธารณะจะเห็นว่าจะไม่มีใครสนใจใคร ทุกคนจะไม่ยิ้มให้แก่กัน ไม่มีน้ำใจต่อกัน  ไม่สนใจไม่ใส่ใจกัน"
      
       ทั้งนี้ ดร.จิตราเล็งเห็นว่า หากปล่อยพฤติกรรมดังกล่าวทิ้งไว้เนิ่นนาน ความแข็งกระด้างในจิตใจจะเพิ่มขึ้นๆ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลหากหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา
       
       นอกจากนี้ ข้อเสียของการเสพติดสังคมเครือข่ายอย่างหนักของเยาวชนคือ โอกาสที่จะเกิดโรคซึมเศร้า เหงา หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเอง
      
       "เด็กสมัยนี้ดูเหมือนมีเพื่อน แต่ความจริงเขาน่าสงสาร เขาไม่มีเพื่อน อาจจะดูเหมือนเป็นคนมีสังคม แต่เขาไม่มีสังคม ที่ต้องพูดเช่นนี้เพราะการมีเพื่อนหรือมีสังคมนั้น ต้องเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ และต้องอยู่ตรงหน้าในขณะนั้นด้วย จึงจะเรียกว่ามีความสัมพันธ์หรือมีมนุษยสัมพันธ์ แต่การเข้าสู่สังคมเครือข่ายมันเป็นการคุยกันแบบฉาบฉวย เป็นการคุยกันโดยผ่านอุปกรณ์ ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่ตรงเราในขณะนั้น อยากฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองว่าควรจะหากิจกรรมให้ลูกหลานทำโดยเน้นการทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับผู้คน และควรสอนให้เด็กรู้ว่าบุคคลที่สำคัญที่สุดสำหรับเราก็คือบุคคลที่อยู่ตรงหน้าเรา เวลาที่สำคัญที่สุดก็คือเวลา ณ ปัจจุบัน และกิจกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือกิจกรรมที่เราได้ลงมือทำจริงในเวลานั้นโดยเกี่ยวพันธ์กับความสันพันธ์กับผู้คน และไม่เพียงแค่เด็กๆ และเยาวชนเท่านั้น ผู้ใหญ่หรือคนในวัยทำงานก็ควรจะให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ด้วย"
      
       แม้จะมีเสียงตอบโต้มาจากฝั่งผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีว่า การใช้เครื่องมือสื่อสารในลักษณะดังกล่าวเป็นความพอใจส่วนบุคคล แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ออกโรงเตือนก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมไทยไม่น้อย และเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว คงไม่มีใครหวังพึ่งพาเพื่อนจากอุปกรณ์สื่อสาร มากกว่าความสุขที่ได้จากการพูดคุยกับตัวคนจริง ๆ ตรงหน้าเป็นแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น