ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเวชธานี ได้ให้ข้อมูลว่า สุรา ถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการหมักผัก ผลไม้ หรือเมล็ดพืชชนิดต่างๆ แล้วแต่งกลิ่น ในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แต่ละชนิดจะมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่างกัน เช่น เหล้ามีแอลกอฮอล์ 40% ไวน์มีแอลกอฮอล์ 12% และเบียร์มีแอลกอฮอล์ 5% โดยฤทธิ์ ร้ายของแอลกอฮอล์จะกดประสาท ทำให้สมองทำงานช้าลง พูดจาอ้อแอ้ เดินไม่ตรงทาง ความ คิดสับสน ขาดสติ และด้วย อาการเหล่านี้เอง จึงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้นักดื่มทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่ร่วมใช้ท้องถนน ได้รับบาดเจ็บพิการ รวมทั้งสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แม้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกมารณรงค์ ลด ละ เลิก การดื่มสุรา แต่สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเทศกาลต่างๆ ก็ยังอยู่ในสถิติที่น่าเป็นห่วง
สุรา หรือเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ที่มีส่วนผสม ของแอลกอฮอล์ หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปและ ติดต่อกันเป็นเวลานานย่อม มีผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากจะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ แล้วยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ มากมายอัน ได้แก่ กลุ่ม โรคทางระบบประสาท ทำให้ความจำเสื่อม หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เสียการควบคุมด้าน อารมณ์ โรคนอนไม่หลับ กระบวนการการ รับรู้ ความเข้าใจ บกพร่อง ขาดสติ จิตหลอน ประสาทหลอน โรคคลั่งเพ้อ เกิด จากโรคพิษสุราเรื้อรัง การทำหน้าที่ของสมองผิดปกติส่งผลถึงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อ ส่วนปลายแขนขา อ่อนแรง ปลายประสาท พิการ โรคซึมเศร้า โรคลมชัก และโรคระแวงเพราะสุรา
กลุ่มโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งในปากและช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งรังไข่ กลุ่มโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่น โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โรคเบาหวาน (เกิดจากตับอ่อนอักเสบ) โรคตับอักเสบ โรคตับแข็งจากสุรา โรคตับ อ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง โรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคกระเพาะอักเสบจากสุรา เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายสารเคลือบกระเพาะ ทำให้เกิดแผลจนกระเพาะทะลุ หรือเลือด ออกในกระเพาะ สังเกตได้จากการถ่ายอุจจาระ หรืออาเจียนเป็นเลือด โรคต่อมหมวกไต กระดูกพรุน โรคเกาต์ โรคพิษสุรา เรื้อรัง
กลุ่มโรคหลอดเลือดและหัวใจ คนที่ดื่มสุราเป็นประจำมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่ดื่มน้อยกว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ และยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมจากสุรา โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมองส่วนนอกลีบฝ่อ อาการระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจล้มเหลว
กลุ่มเสี่ยงที่กำลังตั้งครรภ์ จะส่ง ผลกระทบต่อทารกในครรภ์คือมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย ปากแหว่งเพดานโหว่ ดวงตาและกรามมีขนาดเล็ก สมองเล็กกว่าปกติ หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด แขนขา เจริญเติบโตผิดปกติ ความสามารถในการ มองเห็นน้อยกว่าทารกปกติ ร้องกวนโยเย ง่าย รูปร่างแคระแกร็น นอนหลับยาก และมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ
แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังสงสัยว่า ดื่มมากขนาดไหนที่เรียกว่า “ติดสุรา” อาจแบ่งให้เห็นชัดเจนได้ 3 ระดับ คือ ระดับแรกดื่มเฉพาะตอนที่เข้าสังคม ระดับที่สองดื่มเป็นระยะ และกลุ่มที่สามดื่มจนติดหรือที่เรียกว่า แอลกอฮอล์ลิซึ่ม คนที่ดื่มจนติดแล้ว มักจะดื่มเป็นประจำทุกวัน และเพิ่มปริมาณในการดื่มมากขึ้น ถ้าหยุดดื่มจะมีอาการ เช่น ใจสั่น มือสั่น คล้ายจะเป็นลม
นักดื่มหลายท่านบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกปฏิเสธหรือ “เลิกดื่ม” เป็นการถาวร ทว่าคุณยังสามารถดื่มได้อย่างมีสติและรับผิดชอบ โดยถือหลักปฏิบัติง่ายๆ เช่น ต้องรู้จักสุขภาพตนเอง ถ้าไม่แข็งแรง เมาง่าย ก็ควรดื่มแบบรู้ตัว ดื่มแบบรับผิดชอบ ต่อผู้อื่น รวมถึงรู้กาลเทศะ และสถานที่ด้วย หากต้องขับรถก็ต้องมีสติ “เมาไม่ขับ” หรือหากมีพฤติกรรมเมาแล้วส่งเสียงดัง โวยวาย ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ก็ไม่ควรดื่มจนเมา ที่สำคัญ ต้องรู้บทบาทตนเอง ถ้าเป็น พ่อแม่ หรือเป็นผู้ปกครองก็ ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกๆ ด้วย
สำหรับคนที่ดื่มจนติดแล้วต้องการเลิกเหล้า มีข้อแนะนำในเบื้องต้นว่า ผู้ที่ดื่มเป็นประจำหรือที่เรียกว่า “ติดสุรา”และไม่สามารถเลิกแบบทันทีทันใดได้ ควร ลดปริมาณการดื่มลงทีละน้อย หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าได้ ควรรับประทานอาหารให้อิ่มท้อง พยายามอย่าให้ท้องว่าง ขณะเดียวกันควรหันไปดื่มน้ำผลไม้ทดแทน และหากิจกรรมอื่นๆ หรือเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง กรณีที่มีอาการติดเหล้ารุนแรงควรมาพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดรักษา และที่สำคัญควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ปีใหม่นี้ สังสรรค์แต่พอดี เพื่อ คุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน